วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

มรรคมีองค์แปด


มรรค คือหนทาง ในที่นี้คือหนทางที่ดี ที่จะนำพาผู้ปฏิบัติไปสู่ความไม่มีทุกข์ (นิพพาน) ดับทุกข์ทั้งปวง เข้าสู่นิพพาน
        มรรคแปด บางท่านเรียก "อริยมรรค" หรือ "มรรคมีองค์แปด" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบสัมมาสังกัปโป ความดำริชอบสัมมาวาจาการพูดจาชอบสัมมากัมมันโต การทำการงานชอบสัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ,สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบสัมมาสะติ ความระลึกชอบสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นชอบ

   สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบท่านอธิบายว่า ความเห็นชอบ นั้นคือ ความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์ทั้งหลายนี้คือ ความเห็นชอบ

   สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบท่านอธิบายว่า ความดำริชอบ นั้นคือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่มุ่งร้ายความดำริในการไม่เบียดเบียน ทั้งหลายนี้คือ ความดำริชอบ

   สัมมาวาจา การพูดจาชอบท่านอธิบายว่า การพูดจาชอบ นั้นคือ เจตนาเว้นจากการพูดไม่จริง เจตนาเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเว้นจากการพูดหยาบ เจตนาเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ทั้งหลายนี้คือ การพูดจาชอบสัมมากัมมันโต การทำการงานชอบท่านอธิบายว่า การทำการงานชอบ นั้นคือ เจตนาเว้นจากการฆ่า เจตนาเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ทั้งหลายนี้คือ การทำการงานชอบสัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบท่านอธิบายว่า การเลี้ยงชีวิตชอบ นั้นคือ ละการเลี้ยงชีวิตที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ ทั้งหลายนี้คือ การเลี้ยงชีวิตชอบ

   สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบท่านอธิบายว่า ความพากเพียรชอบ นั้นคือ ทำความพอใจให้เกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ทำความพอใจให้เกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละอกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว ทำความพอใจให้เกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ทำความพอใจให้เกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งหลายนี้คือ ความพากเพียรชอบ

   สัมมาสติ ความระลึกชอบท่านอธิบายว่า ความระลึกชอบ นั้นคือเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้ทั้งหลายนี้คือ ความระลึกชอบ

   สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบท่านอธิบายว่า ความตั้งใจมั่นชอบ นั้นคือ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปิติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ เพราะความวิตกวิจารทั้งสองระงับลง  เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปิติและสุข อันเกิดจากสมาธิแล้วแลอยู่   อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปิติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า "เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข"  เข้าถึงตติยาฌาน แล้วแลอยู่ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความมีสติ เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่ ทั้งหลายนี้คือ ความตั้งใจมั่นชอบ

ได้จากhttp://www.forthais.org/dharmathailand/pages/ways.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น